วิธีรับมือกับ 4 อาการป่วยของลูกน้อย
แม้ว่าอาการเป็นไข้ ไอ อาเจียน เป็นอาการเล็กๆ แต่สำหรับเด็กทารกเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เนิ่นนาน ส่วนจะดูแลอย่างไรให้ถูกวิธี MOM2KIDDY มีวิธีการดูแลอาการเบื้องต้นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
อาการไข้ -ตัวร้อน
ไข้คือการที่อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าลูกมีอุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ถือว่าไข้สูง ซึ่งอาจทำให้เกิดชักได้โดยเฉพาะเด็กเล็ก ส่วนอุณหภูมิระหว่าง 37.5-38.5 องศาเซลเซียส ยังเป็นไข้ต่ำ
คุณแม่ควรใช้ปรอทวัดไข้ เพื่อประเมินความรุนแรงของไข้ ไม่ควรใช้เพียงมือสัมผัสเพื่อบอกว่าตัวรุม ๆ หรือตัวร้อนจัดเท่านั้น ยิ่งในเด็กเล็กวัย 3 เดือน – 2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายค่ะ
วิธีการดูแล :
เมื่อลูกเริ่มตัวร้อน มีไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดตัวเป็นหลักและให้ยาลดไข้เสริม
เช็ดตัวลดไข้ : ควรเช็ดตัวให้ลูกในเบื้องต้น และควรวัดไข้ก่อนและหลังเช็ดตัวทุกครั้ง เพราะหลังเช็ดตัวอุณหภูมิควรลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส แต่หากไข้ยังสูงก็ควรเช็ดตัวซ้ำค่ะ
ให้ยา : สำหรับการใช้ยาลดไข้ในเด็กวัยแรกเกิด – 6 เดือนนั้นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หากต้องให้ก็ควรเป็นพาราเซตามอลที่ถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูงในเด็ก ที่จะมีทั้งยาแบบหยดสำหรับเด็กเล็ก (ขนาด 1 ช้อนชาหรือ 5 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กก.) และแบบน้ำเชื่อมสำหรับเด็กโต (ขนาด 1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัว 20 กก.) ควรให้ทุก 4-6 ชม. เวลามีไข้ค่ะ
อาการชัก
อาการชักมักจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเด็ก มีอุณหภูมิสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเด็กมีไข้ตัวร้อนสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส และอาการชักมักจะเกิดในช่วงวันแรกหรือวันที่ 2 ของการมีไข้ เด็กจะมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น แล้วตามด้วยการกระตุกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1–3 นาที โดยอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก หรือริมฝีปากและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้ในรายที่ชักเป็นเวลานาน หลังจากหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับ หรือมีอาการสะลึมสะลือไปชั่วครู่
วิธีการดูแล :
คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งจะสติ และอย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก และรีบปฐมพยาบาลลูกทันที
1.ให้จับลูกนอนหงาย และตะแคงศีรษะลูกไปด้านข้าง ให้อยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย เพื่อให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาได้สะดวก ป้องกันไม่ให้สำลักไปอุดตันในหลอดลม
2.ให้ถอดหรือคลายเสื้อผ้า รวมถึงผ้าห่มที่อาจทำให้ลูกอึดอัดออก
3.ระวังอย่าให้ลูกกัดลิ้นตัวเอง โดยการสอดด้ามช้อนที่หุ้มด้วยผ้านุ่มๆ เข้าในช่องปาก แต่ถ้าลูกกำลังเกร็งและกัดฟัน ก็อย่างัดปากลูกในทันที จะทำให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้
4. ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำอุ่น โปะไว้ตามข้อพับแขนขา และเช็ดตัวลูก
5.เมื่ออาการสงบแล้ว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุด
ขณะที่ลูกชัก ไม่ควรเขย่าหรือตีเพื่อให้ลูกรู้สึกตัวจะทำให้ลูกชักมากขึ้น รวมถึงห้ามป้อนอะไรให้ลูกเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะทำให้สำลักได้
อาการอาเจียน
การอาเจียนของเด็ก เป็นอาการที่จะพบบ่อยในเด็กป่วย ซึ่งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการถ่ายเหลว ปวดท้อง และเป็นไข้ อาการอาเจียนมักทุเลาลงหรือหายไปได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลักษณะที่ลูกอาเจียนออกมา ว่าเป็นเศษอาหาร เสมหะ สีอะไร อาเจียนแบบพุ่งหรือไม่พุ่ง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่เนื่องจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้นค่ะ
การอาเจียนอยู่เรื่อย : กินอะไรก็อาเจียนหมด และกินน้ำไม่ได้เลย เป็นไปได้ว่าอาจเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ
การอาเจียนและมีไข้ – อาจเป็นการติดเชื้อทางเดินอาหารส่วนบน
การอาเจียน มีไข้ และท้องเสีย - แสดงว่าติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร
การอาเจียนพุ่ง – อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง
การอาเจียนมีสีเขียว(อาจเป็นน้ำดี) หรือสีแดง(อาจเป็นเลือด) ออกมาด้วย - อาจจะเป็นอาการ อุดตันของปลายกระเพาะ หรืออุดตันของลำไส้
วิธีการดูแล :
หากลูกเกิดอาเจียนหนัก กินไม่ได้ อาเจียนพุ่ง มีเลือดออกมา รวมถึงมีอาการอื่นร่วมด้วยก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันทีค่ะ แต่หากลูกยังพอเล่นได้ กินอาหารได้ ก็สามารถเฝ้าดูแลอาการที่บ้านได้ดังนี้ค่ะ
เริ่มต้นด้วยการจิบน้ำเกลือแร่ทีละน้อย ถ้ามีไข้ก็เช็ดตัว กินยาลดไข้ แต่ถ้าเด็กเล็กยังจิบน้ำเกลือไม่ได้ ซึม อ่อนแรงลง ยิ่งถ้าอาเจียน ก็ควรต้องพาไปพบหมอให้ตรวจดู
ถ้าเกิดเป็นอาเจียนไม่มาก ในเด็กที่กินอาหารเสริมได้ก็เริ่มตามวัย เริ่มจากอาหารอ่อนๆ กินข้าวต้ม น้ำข้าว โจ๊ก ก็จะช่วยชดเชยอาการขาดน้ำได้ อาจจะใส่เกลือหรือน้ำปลาหน่อย เพิ่มโปรตีน โดยการฉีกไก่ใส่ หรือไข่เจียว หมูหยอง ปลาทูทอดอีกนิดก็ได้ ที่สำคัญก็ต้องกินทีละน้อยแต่กินบ่อยๆนะค่ะ
อาการไอ
อาการไอเป็นกลไกของการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ซึ่งอาการไอพบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วง 4 เดือน – 2 ปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่เริ่มหมดลง เลยมีโอกาสรับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้นนั้นเอง หากมีอาการไอติดต่อมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็อาจจะเป็นการไอเรื้อรังได้ ซึ่งก็ต้องพาไปพบคุณหมอค่ะ
วิธีการดูแล :
ในเด็กช่วงขวบปีแรกนั้น เบื้องต้นยังไม่ควรให้ยาแก้ไอนะค่ะ แต่ให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ และบ่อยครั้ง เพื่อจะให้เสมหะไม่เหนียว แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นจะทำให้ชุ่มคอและไม่ระคายเคือง ถ้าลูกไอแล้วสำรอกเสมหะออกมาก็จะดีขึ้น และต้องให้พักผ่อนให้เพียงพอด้วยค่ะ