ไขคำตอบ!!
รังสีเอ็กซ์เรย์ เสี่ยงมะเร็งกับทารกในอนาคตหรือไม่?
โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
... คุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆท่าน คงเคยกังวลกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาบ้างไม่มากก็น้อย เช่น หนูไปรับการร่างกายประจำปี มีการตรวจเอ็กซ์เรย์ปอดด้วย ตอนนั้นไม่ทราบคะว่าตั้งครรภ์ มาทราบทีหลังลูกหนูจะเป็นอันตรายไหมคะ จะพิการไหมคะ หนูทำงานเกี่ยวกับเครื่องถ่ายเอกสาร ตอนนี้ตั้งครรภ์อยู่ยังสามารถทำงานถ่ายเอกสารได้ไหมคะ หนูเพิ่งเดินทางไปต่างประเทศมาผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์ของสนามบิน หนูเพิ่งทราบว่าตั้งครรภ์ลูกหนูจะเป็นอะไรไหมคะ หนูเดินทางทุกวันด้วยรถไฟฟ้าทุกวัน เขาบอกว่าที่เครื่องสแกนตออนผ่านเข้าออกมีรังสีจะเป็นอันตรายต่อลูกหนูไหมคะ หนูต้องทำอาหารและใช้เครื่องไมโครเวฟเป็นประจำ ไมโครเวฟเป็นอันตรายต่อลูกหนูไหมคะ จะเห็นว่า ในยุคปัจจุบัน ความเจริญต่างๆนำมาซึ่งเทคโนโลยี่และการเปลี่ยนแปลง ทำให้หญิงตั้งครรภ์หลายคนต้องสัมผัสกับรังสี แสง คลื่นต่างๆ ที่ในสมัยก่อนไม่มี และเกิดความกังวล เพราะกลัวจะเกิดอันตรายต่อลูกในท้อง วันนี้เรามาไขความกระจ่างของสิ่งเหล่านี้ เพื่อความเข้าใจและไม่เกิดความกลัวกับสิ่งรอบตัวเหล่านี้ที่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จนเกินเหตุ
ผลของรังสีต่อการตั้งครรภ์
การได้รับรังสีของทารกในครรภ์ ผลที่เกิดกับทารกในครรภ์ขึ้นกับขนาดหรือปริมาณของรังสี และอายุครรภ์ของทารกในครรภ์ขณะที่ได้รับรังสี ผลที่เกิดขึ้น เช่น การแท้งบุตร ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ความพิการของอวัยวะต่างๆ ศีรษะเล็กผิดปกติ ปัญญาอ่อน ตลอดจนถึงการเกิดมะเร็งในเด็ก
ปริมาณรังสีที่มีผลต่อทารกในครรภ์
ปริมาณรังสีตั้งแต่ 100mGyหรือ 10 rad. ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์หรือ เกิดการแท้งบุตรตามมาได้ ซึ่งโดยทั่วไปการถ่ายเอ็กซ์เรย์ปกติทั่วไป มีปริมาณไม่มากถึงขนาดที่เป็นอันตราย นอกจากการถ่ายภาพรังสีบางอย่าง เช่น การสวนแบเรี่ยมเพื่อตรวจลำไส้ (Barium enema ) หรือ การฉายรังสีรักษาโรค (Radiotherapy) ซึ่งปริมาณรังสีมากเกินกว่าที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ หลายคนมักมีคำถามว่าการตรวจเอ็กซ์เรย์ปอดประจำปี ที่อาจได้รับการตรวจโดยไม่ได้ตั้งใจ มีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีผล เพราะการฉายรังสีเอ็กซ์เรย์ปอด 1 ครั้ง ได้รับรังสีเพียง 0.01 rad ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก และนอกจากนี้ ยังมีผนังหน้าท้องแม่และมดลูกแม่เป็นตัวช่วยบังรังสีไว้อีกชั้นหนึ่ง ทารกในครรภ์จึงได้รับรังสีน้อยกว่าแม่อีกด้วย
ช่วงอายุครรภ์ต่างๆ ที่ได้รับรังสี มีผลต่อทารกในครรภ์แตกต่างกันอย่างไร?
ในเด็กทารกอายุครรภ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์นับจากวันปฏิสนธิ หรือ 4 สัปดาห์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายถ้าได้รับรังสีในปริมาณมากตั้งแต่ 100mGyหรือ 10 rad อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ส่วนปริมาณรังสีที่ทำให้เด็กทารกในครรภ์เสียชีวิตได้แน่ๆ คือระดับรังสีตั้งแต่ 500mGyหรือ 50 rad เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแบ่งเซลล์ การที่มีเซลล์บางเซลล์ตายจากรังสี จึงส่งผลให้เกิดการแท้งบุตรในครรภ์ตามมาได้ แต่ถ้าได้รับรังสีในช่วง 3-8 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่มีการพัฒนาของอวัยวะต่างๆในร่างกายทารก ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทสมอง เช่นที่พบในเมืองฮีโรชิม่า (Hiroshima)และ นากาซากี (Nakasaki) ของญี่ปุ่นที่ได้รับผลจากรังสีของระเบิดปรมาณู ทำให้เด็กในเมืองนี้มีระดับสติปัญญา (IQ) ที่ต่ำกว่าปกติ และเกิดภาวะปัญญาอ่อน(Mentalretardation) และยังพบการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าปกติ โดยเด็กที่สองเมืองนี้มีความสูงน้อยกว่าเด็กปกติที่ไม่ได้รับรังสีถึงร้อยละ 4 ในขณะที่ถ้าได้รับรังสีปริมาณสูงๆ ในช่วงอายุครรภ์หลัง 20 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งร่างกายทารกสร้างอวัยวะเสร็จแล้ว จึงไม่ส่งผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ แต่อาจมีผลต่อเรื่องของการเจริญเติบโต รวมถึงการเกิดมะเร็งในอนาคตได้ แต่ไม่ต้องกลัวจนเกินเหตุเพราะร้อยละ 99 ของทารกในครรภ์ที่ได้รับรังสีน้อยกว่า 100mGyหรือ 10 rad จะไม่เกิดมะเร็ง หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว
การได้รับรังสี เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของทารกในอนาคตหรือไม่?
คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับขนาดของรังสีที่ได้รับ เช่น ถ้าได้รับรังสีปริมาณเท่ากับการเอ็กซ์เรย์ปอด 500 ครั้งในครั้งเดียว โอกาสการเกิดมะเร็งของทารกในอนาคต อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ซึ่งจะเห็นว่าความเสี่ยงไม่มาก แต่ถ้าเทียบกับทารกที่ไม่เคยได้รับรังสี โอกาสเกิดจะพบว่ามากกว่าเด็กปกติถึงร้อยละ 50 โดยมะเร็งที่พบบ่อยคือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ Leukemia
การได้รับรังสีที่เกิดจาก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากคอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ที่สนามบิน หรือรถไฟฟ้า และการถ่ายเอกสารจากเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่?
เนื่องจากรังสีที่กล่าวมานี้เป็นรังสีที่ไม่แพร่กระจาย (Nonionizing radiation) จึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องกังวล เพราะปริมาณรังสีน้อยมาก แต่ควรใช้เครื่องเหล่านี้ให้ถูกต้อง เช่น ปิดฝาไมโครเวฟให้สนิท และปิดฝาเครื่องถ่ายเอกสารทุกครั้งที่ใช้เครื่อง
แหล่งที่มา :pregnancy.mothersdigest