จุกหลอกมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ????
"ลูกสาววัย 3 เดือนติดจุกนมหลอกมาก โดยเฉพาะตอนจะนอน กลัวว่าปากลูกจะไม่สวย จะทำอย่างไรดี"
การใช้จุกนมหลอก (pacifier) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากใช้ถูกวิธีย่อมไม่มีอันตรายค่ะ ข้อดี คือ เป็นการทดแทนความต้องการในการดูดหรือการได้บริหารกล้ามเนื้อปาก เนื่องจากเด็กเล็กยังมีความสามารถจำกัดในการเคลื่อนไหว ใช้มือคว้าของเล่นยังไม่ได้ เล่นของเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นยังไม่ได้ ความสุขอยู่ที่การได้ดูดค่ะ
เด็กทารกบางคนเป็นเด็กที่ปรับตัวค่อนข้างยาก หรือเป็นเด็กโคลิก ร้องไห้เก่งมาก ร้องตลอดเวลา ทำอย่างไรก็ไม่หยุดร้องไห้ ต้องให้อุ้ม หรือต้องได้ดูดตลอดเวลาจึงจะเงียบได้ ทั้งๆที่ดูดจนพุงกาง ท้องป่องหรืออาเจียนแล้ว ทำให้ผู้เลี้ยงดูเหน็ดเหนื่อยและสับสนอย่างมาก หากเป็นคุณแม่ที่ให้นมแม่ จะรู้สึกมั่นใจว่าลูกได้นมเพียงพอหรือไม่ (การประเมินว่านมพอหรือไม่ ในรายที่ดูดนมแม่ ให้ประเมินจากจำนวนครั้งการถ่ายอุจจาระตั้งแต่ 2 ครั้ง ปัสสาวะตั้งแต่ 6 ครั้งในหนึ่งวัน)
ส่วนเด็กที่ดูดนมขวด หากการร้องทุกครั้งได้ดูดนมทุกครั้ง จะเกิดปัญหา ปวดท้อง อาเจียน และเป็นเด็กที่ชินกับการทานจนมากเกินไป เกิดปัญหาโรคอ้วนตามมาได้ ดังนั้นการใช้จุกหลอกในช่วงที่เด็กยังปรับตัวไม่ได้ คือช่วง 3 เดือนแรก สามารถใช้ได้ค่ะ เพื่อตอบสนองความต้องการอยากดูด โดยไม่มีนมหรือลมเข้าท้องจนมากเกินไป และเมื่อเด็กเริ่มเลี้ยงง่ายแล้ว เริ่มขยับแขนขาอย่างมีจุดหมาย เริ่มเล่นอย่างอื่นเป็นแล้ว เราควรหยุดใช้ แต่ควรใช้วิธีเล่นกับลูก พาลูกเดินเที่ยวชมนกชมไม้ และตอบสนองความต้องการให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าพอร้องไห้ปั๊บ เอาจุกหลอกยัดปากปั๊บ ถ้าทำอย่างนี้ต่อไป อีกหน่อยเด็กจะไม่สามารถตอบสนอบความต้องการของตัวเองได้ถูกต้อง กลายเป็นต้องพึ่งพาจุกหลอกในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะ หิว ง่วงนอน เหงา หรือเบื่อ เป็นต้น
นอกจากนี้หากติดนิสัยไปจนโต อาจมีผลทำให้โครงสร้างของช่องปากและฟันผิดปกติ มีอุบัติการณ์ของโรคหูชั้นกลางติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้พูดช้าหรือพูดไม่ชัด ขาดทักษะในการเข้าสังคมหรือเล่นกับเด็กอื่นเพราะมีความสุขจากการคาบจุกหลอกอยู่คนเดียวได้
หากคุณแม่ประเมินดูแล้วพบว่าลูกอายุ 3 เดือนตอนนี้เริ่มเลี้ยงง่ายแล้ว หมอเห็นด้วยค่ะ เลิกใช้จุกหลอกแล้วให้เวลาเล่นกับลูกมากขึ้น พาลูกเข้านอนโดยการอุ้มหรือร้องเพลงกล่อมแทนการใช้จุกหลอก เดี๋ยวเขาก็ลืมได้เองค่ะ
ขอขอบคุณบทความดีดี โดย คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ