มารู้จักวัคซีนในเด็กกันเถอะ
วัคซีนทำงานโดยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส และ แบคทีเรีย โดยทั่วไป หลังการติดเชื้อโรค ร่างกายจะจำเชื้อโรคได้ ทำให้ต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดเดิมได้ หากได้รับเชื้อตัวเดิมเข้าไปอีก ทำให้ไม่เป็นโรค แต่ถ้าเราไม่อยากเป็นโรคจริง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือ เกิดความพิการตามมาจากการเป็นโรคจริง การฉีดวัคซีนซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนก่อโรคไม่ได้แล้ว หรือ เป็นชิ้นส่วนของเชื้อโรค ก็จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้โดยไม่ต้องเป็นโรคจริง
ในประเทศไทย วัคซีนภาคบังคับ ได้แก่
วัณโรค - ไข้ ไอ เบื่ออาหาร เลี้ยงไม่โต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ
คอตีบ - มีแผ่นเนื้อเยื่อที่อักเสบและตายปกคลุมอยู่ในคอ ทำให้มีปัญหาหายใจลำบาก
ไอกรน - ทำให้ไออย่างรุนแรงจนกินไม่ได้ นอนไม่ได้ และหายใจลำบากเป็นเวลาหลายสัปดาห์
บาดทะยัก - กล้ามเนื้อเกร็งมากผิดปกติ ทำให้หายใจลำบาก
หัด - ไข้สูง ผื่นตามตัว ปอดอักเสบ และสมองอักเสบ
คางทูม - ไข้ ปวดหัว หูตึง ต่อมน้ำลายบวมอักเสบ รังไข่หรืออัณฑะอักเสบบวมแดง ทำให้เป็นหมันได้
หัดเยอรมัน - หากเป็นในเด็ก อาการไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ
โปลิโอ - สมองอักเสบ ทำให้ขาพิการเป็นอัมพาต
ไวรัสตับอักเสบบี - ทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง กลายเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ
ไข้สมองอักเสบเจอี - ไข้ ชัก สมองพิการ
ในประเทศไทย วัคซีนภาคทางเลือก ได้แก่
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ - ทำให้หูตึง สมองพิการ ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจนขาดอากาศ
โรต้าไวรัส - ไข้ อาเจียน ท้องเสีย
การติดเชื้อนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) - ทำให้ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด
อีสุกอีใส - ทำให้เกิดผื่นคัน เกิดปอดอักเสบและสมองอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อน
ไข้หวัดใหญ่ - ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปอดอักเสบรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด)
ตับอักเสบเอ - อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตับอักเสบ
ทัยฟอยด์ - ไข้ ท้องเสีย
เอชพีวี - มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่ทวารหนัก หูดหงอนไก่ ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
วัคซีนอื่นๆ
ยังมีวัคซีนอื่นๆอีกที่ไม่ได้กล่าวข้างต้น เช่น บางแห่งของโลก ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกคอคคัส เวลาที่เด็กต้องเดินทางพร้อมพ่อแม่ไปยังสถานที่มีโรคเหล่านี้ ต้องการวัคซีนเพิ่มเติม
คำถามที่พบบ่อย : วัคซีนโรต้า และ ไอพีดี มีความจำเป็นหรือไม่คะ
ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทั่วไป โรคจะไม่รุนแรงมากนัก แต่บางครั้งอาจรุนแรง ถึงขั้นขาดน้ำ และ เกิดภาวะช็อก และ ต้องรักษาตัวในรพ. ปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยลดความรุนแรงของโรค ทำให้มีความจำเป็นต้องอยู่รพ.ลดน้อยลง แม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดโรคท้องเสียจากเชื้ออื่นๆ หรือ แม้แต่จากเชื้อไวรัสโรต้าเอง แต่จะลดความรุนแรงได้
วัคซีนนิวโมคอคคัส เป็นวัคซีนที่ราคาสูง และ ไม่สามารถป้องกันเชื้อทุกสายพันธุ์ แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีน จะช่วยลดความรุนแรง และ ความเสี่ยงในการเสียชีวิต และ ความพิการของสมองตามมาได้
การติดเชื้อนิวโมคอคคัส ไม่ได้ติดง่ายเหมือนกับการติดเชื้อไวรัส การป้องกัน ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อจากผู้อื่น เช่น ไม่นำเด็กเข้าเรียน หรือ ฝากเลี้ยงในสถานรับเด็กก่อนวัยอันควร ไม่พาเด็กไปห้างสรรพสินค้า หรือ ไปอยู่ที่แออัดเป็นเวลานานๆ
การกินนมแม่ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคได้อย่างไร
ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เมื่อสัมผัสโรค จะติดโรคยากกว่า
ลดความรุนแรงของโรค เมื่อติดโรคแล้ว อาการรุนแรงน้อยกว่า
ลดอัตราเสียชีวิต เมื่อติดโรคแล้ว เสียชีวิตน้อยกว่า
เด็กกินนมแม่ เมื่อฉีดวัคซีน จะสร้างภูมิต้านทานได้ดีกว่า เด็กที่กินนมผง
ขอขอบคุณบทความดีดี โดย คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ