4 เดือน
หลังจากนอนมองนู่นนี่ มาตลอด 4 เดือน ตอนนี้เจ้าหนูน้อยอยากลอง พลิกตัวดูเองบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เจ้าหนู จะเริ่มพลิกคว่ำกันช่วงนี้ ฉะนั้นต้องคอยระวังเมื่อวางลูกไว้บนที่นอนนะคะ เริ่มแรกลูกจะพยายามตะแคงตัวไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เมื่อสบโอกาสเหมาะ ก็พลิกคว่ำ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ตกใจเล่นๆ จากนั้น ลูกน้อยก็จะขยันพลิกเพิ่มความคล่องแคล่ว
5 เดือน
พอลูกน้อยซ้อมพลิกคว่ำมาได้สักพัก ก็เริ่มอยากจะ ‘คืบ’ หน้าบ้าง แรกๆ หนูน้อยบางคนอาจจะคืบหลังให้ผู้ใหญ่ในบ้านได้ลุ้นกันพอหอมปากหอมคอ เมื่อหนูน้อย จับเทคนิคได้ ก็จะเริ่มคืบหน้าได้ค่ะ ควรให้ลูกนอนบนเบาะนิ่มแต่แบน เพื่อให้ลูกน้อยคืบได้สะดวก และป้องกันการกระแทก
6 เดือน
วัยนี้เริ่มจะนั่ง ได้แล้ว บางคนนั่งได้แข็งแรงดีไม่โอนเอียง บางคนอาจต้องใช้หมอนดันหลัง กั้นข้างกันบ้าง เมื่อเริ่มนั่งบ่อยๆ กล้ามเนื้อหลังจะเริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และนั่งได้ตั้งตรงไม่โอนเอนแล้ว (ส่วนมากอายุประมาณ 7 เดือน) ต่อจากนี้ก็เริ่มเข้าสู่วัย ‘คลาน’ กันล่ะค่ะ
8 เดือน
เมื่อกล้ามเนื้อหลังเริ่มแข็งแรง กล้ามเนื้อแขนขาพร้อม ลูกน้อยก็อยากจะสำรวจให้ไกลจากเบาะนอนของตัวเองด้วยการ ‘คลาน’ คลานใหม่ๆ อาจจะมีอาการแขนอ่อนบ้าง ไม่ต้องตกใจหาสถานที่คลานให้ลูกน้อยไว้ดีๆ คอย ส่งเสริมให้ลูกอยากคลานไปที่ใกล้ๆ เมื่อคลานไปได้สักพัก คราวนี้ความเร็วจะเพิ่มขึ้น น้ำหนักการคลานของแขนขาก็เพิ่มขึ้น (บางครอบครัวหาสนับเข่ามาใส่ให้ลูกกัน ทีเดียว แนะนำว่าใส่กางเกงขายาวก็เพียงพอ) ขึ้นอยู่กับความคล่องตัวของเด็กเองด้วย
เด็กบางคนอาจจะไม่คลาน เพียงแค่คืบ นั่ง แล้วเกาะยืนเลยก็มี บางคนไม่ชอบคลาน ชอบอยู่เฉยมากกว่า ก็มีเยอะเช่นกัน ดังนั้น ไม่ต้องกลุ้มใจไป ถ้าลูกคุณแม่ยัง ไม่คลาน ถ้าพัฒนาการด้านอื่นๆ ปกติดี ก็อาจจะใช้วิธีกระตุ้นบ้าง เล่นบ้างค่ะ
Text : ประกาย
แหล่งที่มา Mother&Care Magazine, มาเธอร์แอนด์แคร์ คู่มือเลี้ยงลูกเพื่อคุณแม่สมัยใหม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงลูกอายุ 9 ปี
ติดตามอ่านฉบับเต็มแบบออนไลน์ได้ที่ Mother&Care e-Magazine
หรือ ติดตามที่ Community Club คุณแม่ Facebook Mother&Care ที่รวมเรื่องราวเรื่องน่ารู้ สำหรับคุณแม่มือใหม่คะ