ของกินอร่อย ใหม่ สดสะอาด ผ่านกรรมวิธีการปรุงถูกสุขลักษณะภาชนะที่ใช้ก็ผ่านการทำความสะอาดอย่างดีเยี่ยม แต่สุดท้ายกลับมีการปนเปื้อนเชื้อโรค เมื่อตอนอาหารเข้าปากของเด็กๆ ว่าแต่พฤติกรรมการกินแบบไหนบ้างนะ ถึงทำให้เด็กๆ ได้รับเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย
กินแบบ…ปากถึงปาก
เวลาเห็นแม่นกป้อนอาหารลูกนก จากปากถึงปากก็ดูน่ารัก น่าอบอุ่นใจ ซะจริงๆ แต่อย่าได้หยิบยกความน่ารักแบบนี้มาใช้กับลูกรักของเราเลย เพราะการส่งอาหารแบบปากถึงปากสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคจากคนป้อนสู่เด็กๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคี้ยวอาหารให้ การกัดแบ่งอาหารด้วยปากของ คุณพ่อคุณแม่ การอมเพื่อช่วยบรรเทาความร้อน หรือล้างรสชาติของอาหาร นั้นๆ ก่อนป้อนให้เด็กๆ กิน เป็นต้น
กินแบบ…ใช้อุปกรณ์การกินร่วมกัน
ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกใน วัยเล็กมักจะกินข้าว หรือดื่มน้ำไปพร้อมๆ กับลูก เช่น เวลาไปร้านข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว ก็มักสั่งมา 1 จาน แล้วตักป้อนกินไปพร้อมกันกับลูก โดยใช้ช้อน ส้อม หรือตะเกียบชุดเดียวกัน พอถึงเวลาดื่มน้ำก็ใช้แก้วเดียวกันหรือใช้หลอดดูดด้วยกัน การแพร่เชื้อทางน้ำลายจึงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
กินแบบ…ใช้ของกินร่วมกัน
การนั่งกินข้าว กินขนม สังสรรค์ในมื้ออาหารพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวเป็นสิ่งที่ดี แต่หากกินร่วมกันโดยต่างคนต่างใช้ช้อนส้อมของตัวเองตักอาหารกิน โดยไม่ใช้ช้อนกลาง หรือบางคนมักมีพฤติกรรมดูดตะเกียบ จากนั้นก็ใช้ตะเกียบ ไปคีบ เขี่ยอาหาร หรือจุ่มในน้ำจิ้ม ที่กินร่วมกัน หรือแม้กระทั่ง การดูด เลีย กินไอศกรีมแท่งเดียวกัน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคที่ติดต่อกันผ่านทางน้ำลายได้
กินแบบ…มือถึงปาก
อันดับแรกต้องถามก่อนว่าแน่ใจแล้วหรือว่ามือของคุณพ่อคุณแม่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค เมื่อได้คำตอบว่าล้างมือแล้ว สะอาดแน่นอน ทีนี้มาดูกันต่อว่า คุณพ่อคุณแม่มีพฤติกรรมดูดหรือกินอาหารที่นิ้วมือตัวเองระหว่างป้อนของกินให้ลูกหรือไม่ เพราะเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำลายอาจเข้าไปสู่ร่างกายของเด็กๆ ได้
เมื่อได้ทราบถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เด็กๆ ได้รับเชื้อโรคจากการกินอาหารแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงและควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ใช้การปั่น บี้ ครูดผ่านตะแกรง สับ หรือต้มเคี่ยวจนเปื่อย เมื่อต้องการให้อาหารมีลักษณะ ในแบบที่ต้องการและเหมาะกับพัฒนาการเคี้ยวกลืนของลูก
- จัดหาภาชนะหรืออุปกรณ์การกินสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม ช้อน ส้อม ตะเกียบ หรือแก้วน้ำ เพื่อที่เวลากินอาหารคุณพ่อคุณแม่จะได้ตักแบ่งใส่ชามของลูกได้ อีกทั้งขนาดก็จะพอเหมาะกับมือและปากของลูกในการตักกิน
- หากออกไปกินข้าวนอกบ้าน คุณพ่อ คุณแม่อาจพกชุดชาม อุปกรณ์ในการกินสำหรับเด็กๆ ไปเอง หรืออาจขอชุดชามจากทางร้านมาเพิ่ม เพื่อให้เด็กๆ มีช้อนหรือแก้วน้ำกินเป็นของตัวเอง
- ใช้ช้อนกลางตักแบ่งอาหารทุกครั้ง
- ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลัง กินอาหาร
- ทำความสะอาดพร้อมดูแลช่องปาก และฟันให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ
เรื่องควรรู้
* พฤติกรรมการกินที่ทำให้เสี่ยงต่อการเดินทางของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเด็กๆ นั้นอาจส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี โปลิโอ คอตีบ ฟันผุ การติดเชื้อในช่องปาก โรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ เป็นต้น
* แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะยืนยันเสียงแข็งว่าไม่ได้ป่วยเป็นโรคหรือติดเชื้อใดๆ แต่อย่าลืมว่าภูมิคุ้มกันเชื้อโรคในร่างกายของผู้ใหญ่และเด็กแตกต่างกัน ในขณะที่เด็กจะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เมื่อเชื้อโรค หรือเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เข้าไปในร่างกาย อาการติดเชื้อหรือไม่สบายจึงแสดงออกมาให้เห็น
Text : แก้มกลม
แหล่งที่มา Mother&Care Magazine, มาเธอร์แอนด์แคร์ คู่มือเลี้ยงลูก เพื่อ คุณแม่สมัยใหม่ ตั้งแต่ ตั้งครรภ์ จนถึงลูกอายุ 9 ปี
ติดตามอ่านฉบับเต็มแบบออนไลน์ได้ที่ Mother&Care e-Magazine
หรือ ติดตามที่ Community Club คุณแม่ Facebook Mother&Care ที่รวมเรื่องราวเรื่องน่ารู้ สำหรับคุณแม่มือใหม่คะ